1. เนื้อหาต้องแน่น การออกไปนำเสนอหน้าห้องไม่ต่างอะไรกับการออกไปแสดงเดี่ยวไมโครโฟนหน้าเวทีของพี่โน้ต อุดม การจะออกไปนำเสนอเรื่องอะไรก็ตามหน้าชั้นหรือต่อหน้าสาธารณะชน เราต้องมีความรู้ ความเข้าใจในเนื้อหาอย่างแตกฉาน อย่าท่องแค่สิ่งที่เราต้องการจะพูด ควรจะทำความเข้าใจในเนื้อหาที่ต้องการพูด ต้องการนำเสนออย่างลึกซึ้ง รวมถึงความรู้รอบตัวที่เกี่ยวข้อง เพื่อเชื่อมโยงในการอธิบาย การยกตัวอย่างเพื่อให้ผู้ฟังเข้าใจง่าย กระตุ้นความสนใจของผู้ฟังให้เกิดอารมณ์ร่วม และติดตามการนำเสนอของเราจนจบ
2. วางแผนการนำเสนอให้ตรงจุดประสงค์ ถามตัวเองก่อนว่าเราจะนำเสนออะไร ต้องการให้ผู้ฟังได้อะไรหลังจากการนำเสนอจบลง ที่สำคัญวัตถุประสงค์ของอาจารย์ผู้สอนต้องการให้นำเสนออะไร ดูเงื่อนเวลาที่กำหนดและวางแผนการนำเสนอแต่ละส่วน เนื้อหาสำคัญที่ต้องการสื่อสาร และเวลาที่จะใช้ในการพูดแต่ละส่วน ทั้งการนำเข้าเนื้อหาให้น่าสนใจ เช่น การตั้งคำถาม การเข้าสู่เนื้อหา จับประเด็นสำคัญ ๆ ให้ครบ น้ำไม่ต้องเยอะ และเชื่อมโยงแต่ละส่วนให้สัมพันธ์กัน ตบท้ายด้วยการสรุปเนื้อหาที่สำคัญอีกครั้ง เผื่อเวลาสำหรับการถามตอบและเตรียม Q&A ที่เราคาดว่าจะมีผู้ถามคำถาม
3. ใช้สื่อมาเสริมเรา แต่อย่าให้เด่นกว่าเรา ปัจจุบันการนำเสนอมีตัวช่วยหลาย ๆอย่าง ที่ฮิตติดอันดับ คือการนำเสนอโดยใช้ PowerPoint เนื่องจากเราสามารถใส่ลูกเล่น ตกแต่งทั้งตัวอักษรและรูปแบบให้สวยงามน่าสนใจอย่างง่ายดาย แต่อย่าลืมว่าเราซึ่งเป็นผู้พูดจะต้องเป็นสื่อหลักในการนำเสนอ การออกไปหน้าชั้นเพื่ออ่านข้อความใน PowerPoint ไม่ได้นำพานะคะ เพราะเพื่อน ๆ อาจารย์ที่ดูเราอยู่ก็สามารถอ่านข้อความในนั้นได้พร้อม ๆ กับเรา แล้วจะออกไปนำเสนอเพื่อ…? ดังนั้นไม่ต้องยัดเนื้อหามาหมดค่ะ เอาแค่หัวข้อหลัก ๆ Keyword สำคัญ ๆ ดึงความสนใจโดยใช้รูปภาพแทนตัวอักษร แล้วเราโซโล่พูดอธิบายเองจะดีกว่า แม้ตาผู้ชมอยู่ที่ภาพ แต่หูเค้าจะยังฟังเสียงที่เราพูดและการบรรยายที่เราเตรียมมา หากรูปภาพยังไม่เข้าตา แนะนำให้ใช้เป็นคลิปวิดีโอสั้น ๆ เพื่อยกตัวอย่างให้เห็นภาพมากขึ้น
4. Practice makes perfect. สำนวนนี้เป็นอมตะเสมอโดยเฉพาะการพูดในที่สาธารณะ กว่าพี่โน้ต อุดมจะเดี่ยวโชว์ได้คล่องและจับใจขนาดนี้ คงไม่ใช่ว่าคิดแล้วพูดสด ๆ อย่างแน่นอน เกิดจากการเตรียมตัว ฝึกพูดไม่รู้กี่ร้อยกี่พันครั้งกว่าจะมั่นใจเป็นเป็นมืออาชีพขนาดนี้ แต่เราไม่ต้องถึงขนาดพี่เค้าหรอกค่ะ เอาแค่นำเสนออย่างมั่นใจ ตรงใจผู้ฟังและถูกใจอาจารย์ เก็บคะแนนนิ่ม ๆเข้ากระเป๋าก็พอแล้ว เริ่มจากฝึกพูดกับตัวเองก่อนเลยค่ะ เมื่อเนื้อหาพร้อมแล้วลองดูบุคลิคภาพตัวเองในกระจก สีหน้า ท่าทาง ควรจะทำอย่างไร มือไหนจะกดสไลด์ มือไหนจะถือเลเซอร์พอยเตอร์ ทดลองจับเวลา เมื่อเริ่มจะคล่องแล้วลองพูดให้คนที่บ้านหรือเพื่อนของเราฟัง หรือจะถ่ายคลิปแล้วดูตัวเองวิจารณ์ตัวเองไปเลยว่าเป็นอย่างไรบ้าง ลองฟังคอมเมนท์จากคนรอบข้างและนำไปปรับเนื้อหาและวิธีการพูด ยิ่งซ้อมมากเท่าไหร่การนำเสนอจะเข้าไปอยู่ในสมองโดยที่เราไม่ต้องดูบท จะเกิดการพูดอย่างลื่นไหล มีจังหวะ มีการเน้นเสียงสูงเสียงต่ำอย่างเป็นธรรมชาติ
ลองถามตัวเองดูนะคะ ที่เราอายที่จะนำเสนอหน้าชั้นเป็นเพราะอะไร เชื่อว่าน้อง ๆส่วนใหญ่คงมีคำตอบเหมือนกันว่ากลัวพูดผิด กลัวทำอะไรน่าอาย การเตรียมพร้อมที่ดีและการฝึกฝน จะช่วยขจัดปัญหาเหล่านี้ออกไป และจะเป็นประสบการณ์มีค่าที่น้อง ๆ จะได้เก็บไว้นำไปใช้ในการนำเสนอต่อไปในวิชาอื่นๆ หรือแม้กระทั่งตอนสมัครงาน หรือการเรียนต่อในชั้นปริญญาโทหรือเอก ยิ่งเราเริ่มต้นเร็วมากเท่าไหร่ก็เหมือนเราสะสมไมล์ประสบการณ์ก่อนคนอื่น การนำเสนอของเราจะบอกทุกคนเองว่า เราเตรียมตัวมาพร้อมแค่ไหน เรารู้ลึกถึงเนื้อหาดีอย่างไร วิญญาณนักพูดมีอยู่ในตัวเราทุกคน ถ้าน้อง ๆ เม้าท์มอยกับเพื่อน ๆ ได้อย่างมั่นใจ เชื่อเถอะค่ะว่าเราก็ออกไปนำเสนอหน้าชั้นได้อย่างมั่นใจเช่นกัน ไม่ต้องเชื่อนะคะ แต่เราท้าให้คุณลองทำ !
บทความจาก askkbank.com
0 ความคิดเห็น:
แสดงความคิดเห็น